December 25, 2016

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน

ผมกลับมาจากม่อนจองแล้วครับ เป็นสถานที่ที่สวยมากๆที่หนึ่งครับ ไว้ว่างๆอย่าลืมไปเที่ยวกันดูนะครับ

อ้อ… อย่าลืมฟิตร่างกายก่อนไปล่ะครับ ทางชันยาวมาก เล่นเอาผมหอบจนไม่มีเวลาร้องแฮ่กๆไปหลายตลบเลย

เอารูปมาฝากตามธรรมเนียมครับ

กลับมาเข้าเรื่องของเรากันครับ

สำหรับบทความนี้ก็จะพูดถึงสินค้ารูปแบบที่สองต่อจากตอนที่แล้วที่ผมพูดถึงสินค้าแบบจับต้องได้ให้อ่านกันไปแล้วนะครับ

มันคือ…

สินค้าหรือบริการในรูปแบบที่จับต้องไม่ได้ ที่เรียกๆกันว่า Intangible product หรือ Digital product

จับต้องไม่ได้ยังไงครับ ก็ง่ายๆครับคือถึงเราซื้อมาแล้วก็ไม่สามารถใช้มือจับมันได้อยู่ดี

เอ้า จับไม่ได้ แล้วจะซื้อมาทำอะไรครับพี่?

ก็ทำได้หลากหลายแบบมากครับ ผมยกตัวอย่างสินค้าเหล่านี้ก่อน เช่น…

eBook – หนังสืออิเล็คทรอนิกส์

จับต้องไม่ได้ใช่ไหมครับ? ใครจับได้ บอกด้วย 555

eBook ผลิตมาจากอะไรครับ? ผลิตจากไอ้เจ้ารหัส 0011100100 ที่มันอยู่ในคอมพิวเตอร์นั่นเอง เพราะฉนั้นเวลาเราจะจับต้องมัน อาจจะต้องทำผ่านพวกตัวอ่าน eBook เช่น Kindle, iPad, Tablet ต่างๆ ซึ่งถ้านับจริงๆแล้วก็จับต้องไม่ได้ครับ เพราะไอ้ที่มือเราจับต้องลงไปก็คือตัวอ่าน eBook แต่ไม่ใช่ตัว eBook จริงๆ

eBook พวกนี้ส่วนใหญ่ก็บรรจุความรู้เอาไว้ให้คนซื้อนำไปเสพครับ สารพัด หลากหลายมาก เรียกว่าเป็นการขาย Information หรือที่คนไทยยุคปัจจุบันพยายามจะปลุกปลั้นคำว่า Information Product, Infopreneur ขึ้นมาน่ะครับ

จริงๆเป็นคำที่ต่างชาติเค้าใช้กันมาเป็นสิบๆปีแล้วครับ บ้านเราก็กำลังพยายามทำให้เป็นที่นิยมอยู่ ก็ถือเป็นเรื่องที่ดีครับ

เราลองมาเทียบเล่นๆระหว่างหนังสือจริงกับ eBook ดูกันครับว่าใครเด่นใครด้อยในด้านไหนกันบ้าง

  • หนังสือจริงจับต้องได้ อ่านได้ฟีลกว่าเพราะเอามือไปพลิกเปลี่ยนหน้าได้ 555
  • eBook มีน้ำหนักเบากว่าหนังสือเล่ม? อันนี้เป็นจริงมากๆเมื่อเทียบกันแบบหลายๆเล่ม พกหนังสือ 10 เล่มกับพก eBook 10 เล่ม น้ำหนักนี่ต่างกันราวกับขนนกกับก้อนหินเชียวนะครับ (ผมว่า eBook จริงๆแล้วไร้น้ำหนักนะครับ น้ำหนักที่นับคือตัวอ่าน eBook มากกว่า อยากได้เบาๆก็ต้องพวกตระกูล Amazon Kindle ครับ)
  • ต้นทุนการผลิตต่อเล่มของ eBook เป็นศูนย์ ต้นทุนมีแค่ตอนผลิต eBook เล่มแรกเท่านั้น แต่หนังสือเล่มมีต้นทุนการผลิตทุกๆเล่ม
  • eBook ซื้อขายง่ายกว่า นั่งอยู่หน้าคอม กดเลือกแล้วจ่ายเงิน สามารถดาวน์โหลดมาอ่านได้ทันที
  • เป็นคนเขียนหนังสือเล่มดูดีกว่า eBook เพราะได้วางอยู่บนชั้นหนังสือตามห้างและใช้หนุนนอนแทนหมอนได้ 555

ก็เทียบเล่นๆดูนะครับ ลองวิเคราะห์ต่อกันเองว่ามีอะไรมากกว่านี้อีกไหม

ส่วนแหล่งที่ขาย eBook เยอะๆก็ลองดูพวก Amazon Kindle Store, ClickBank ฯลฯ ครับ

ลองมาดูสินค้าที่จับต้องไม่ได้แบบอื่นกันบ้างครับ

More...

คอร์สแบบวีดีโอหรือแบบเสียง (Video course, Audio course)

อันนี้ก็จับต้องไม่ได้ จริงไหมครับ? ต้องเสพผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์

ส่วนใหญ่คอร์สพวกนี้ก็เป็นความรู้ที่เอาไว้สอนในเรื่องที่เฉพาะเจาะจงครับ เช่น การออกกำลังกายให้ได้ six pack, การลดน้ำหนักด้วยการสะกดจิตตัวเอง, การใช้งาน WordPress เบื้องต้น ฯลฯ

นิยมทำเป็นวีดีโอคอร์สโดยเฉพาะพวกเรื่องที่อธิบายเป็นภาพแล้วเข้าใจง่ายกว่าตัวอักษรน่ะครับ

พวกคอร์สแบบนี้ที่ขายกันเยอะๆก็เช่น Udemy, Lynda, Skillshare, ClickBank ฯลฯ ครับ

จริงๆก็คล้ายๆกับ eBook ล่ะครับ เพียงแต่พอทำเป็นวีดีโอแล้วมันดูมีราคากว่า และสำหรับผู้บริโภคบางคนเค้าก็ชอบเสพวีดีโอมากกว่านั่งอ่าน eBook เอาเองครับ

ส่วนพวกคอร์สเสียงนี่หลังๆในวงการไม่ค่อยทำกันแล้วครับ สมัยก่อนอาจจะมีเยอะ แต่สมัยนี้ทำน้อยมากเพราะประโยชน์มันคั่นกลางอยู่ระหว่างการทำ eBook กับวีดีโอครับ

คือ eBook จะติดเรื่องใหญ่เรื่องนึงคือไม่สามารถใส่ Emotion หรือพวกอารมณ์เข้าไปได้มาก เสียงจะทำได้ดีกว่า และที่ดีกว่านั้นก็คือวีดีโอ เจ้าของสินค้าที่ใส่ใจเรื่องการสร้างประสบการณ์มากๆจึงเลือกที่จะทำเป็นวีดีโอมากกว่าเสียงครับ

ถ้าจะเทียบคอร์สวีดีโอหรือคอร์สเสียงก็คงต้องลองเทียบกับพวกแผ่น CD/DVD ที่เค้าวางขายเพื่อสอนเรื่องโน้นนี้กันน่ะครับ ลักษณะความแตกต่างบอกเลยว่ามันก็คล้ายๆกับการเทียบกันระหว่างหนังสือกับ eBook ล่ะครับ

เอาเป็นว่าโดยส่วนตัวที่ผมชอบ Intangible product หรือ Digital product มากกว่าสินค้าที่จับต้องได้นั้น จริงๆผมชอบอยู่ไม่กี่อย่าง…

- กำไร 100% ต่อชิ้นเมื่อนับจากราคาขาย (ผลิตครั้งเดียว หลังจากนั้นรับเต็มๆ ต้นทุนการผลิตและจัดส่งแทบจะเป็นศูนย์)
- ไม่ต้องจัดส่ง เพราะคนซื้อเสร็จสามารถดาวน์โหลดได้เองทันที (คนซื้ออ่านจบแล้ว ผมยังไม่ต้องทำอะไรเลยนอกจากเห็นยอดเงินเข้ากระเป๋า)

แต่สองอย่างนี้ดันไปตอบโจทย์เรื่อง “รายได้” และ “เวลา” ซึ่งเป็นโจทย์ที่ผมตั้งไว้พอดิบพอดี ก็บิงโกสิครับ!

เอ้าๆๆ มาต่อกันที่สินค้าที่จับต้องไม่ได้ตัวต่อไป…

Software หรือ Application หรือพูดง่ายๆก็คือพวกโปรแกรม/แอปบนคอมพิวเตอร์หรือมือถือ

อันนี้เป็นเมกะเทรนด์ที่โตวันโตคืน โตเอาๆๆๆๆๆๆ และจับต้องไม่ได้ เพราะมันอยู่ในคอมฯ อยู่ในมือถือ เราได้แต่เสพเล่นหรือใช้ประโยชน์จากมันเท่านั้น

สำหรับสินค้าประเภทนี้ปกติจะมีอยู่สองแบบ

โหลดไปใช้ฟรีได้เลย
จ่ายเงินก่อนถึงจะใช้ได้ จะจ่ายครั้งเดียวหรือรายเดือนค่อยว่ากันอีกที
โปรแกรมหรือแอปที่โหลดไปใช้ฟรีได้เลยมักจะมีข้อจำกัด เหมือนเป็นตัวให้ทดลองใช้มากกว่า เช่น ใช้ได้ 14 วัน หลังจากนั้นถ้าถูกใจอยากใช้ต่อก็ต้องเสียเงิน

หรือ…

ใช้ฟรีไปเลยไม่จำกัดวันเวลา แต่จำกัดความสามารถของโปรแกรมเอาไว้ ใช้ตรงโน้นไม่ได้บ้าง ใช้ตรงนี้ไม่ได้บ้าง สร้างความอึดอัดเล็กๆให้กับคนใช้งานจริง แล้วก็เสนอว่าถ้าอยากไร้ข้อจำกัด ใช้ได้ทั้งหมด ก็จ่ายเงินซะ

หรือ…

ใช้ฟรีไปเลยไม่จำกัดทั้งวันเวลาและความสามารถของโปรแกรม จัดหนัก จัดเต็ม แต่ขอพื้นที่ไว้แสดงโฆษณานะ สร้างรายได้จากการให้เช่นพื้นที่โฆษณานั่นเอง

เพราะฉนั้น จำไว้อย่างนึงว่า… โปรแกรมฟรีจริงๆ ไม่มีในโลกครับ เวลาของคนพัฒนาโปรแกรมก็เป็นเงินเป็นทอง ต้องแลกด้วยเงินครับ คนพัฒนาโปรแกรมก็มีปากท้องและครอบครัวต้องเลี้ยงดูครับ

ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะทำเงินจากมันยังไงเท่านั้น!

ส่วนโปรแกรมหรือแอปที่ต้องจ่ายเงินก่อนถึงจะใช้ได้นั้น ผมต้องบอกว่าทำยากแล้วในปัจจุบัน ยกเว้นแบรนด์ของคุณมันแข็งแกร่งจริงๆ ไร้คู่แข่ง แบบนั้นก็สามารทำได้ครับ แต่โปรแกรมในสมัยนี้บอกไว้เลยว่าส่วนใหญ่จะมีให้ทดลองใช้ฟรีก่อนทั้งนั้นครับ

ทีนี้เรื่องการจ่ายเงินซื้อสินค้าแบบ Software นี่ ปกติจะทำกันสองแบบคือ…

- จ่ายเงินครั้งเดียว ใช้ได้ตลอดไป อาจจะต้องจ่ายอีกตอนอัปเกรดครั้งใหญ่
- จ่ายต่อเนื่อง เช่น รายเดือน รายปี ฯลฯ

สมัยก่อนผมทำแบบแรกเป็นหลักคือขายเก็บเงินครั้งเดียว แต่ตอนหลังผมไปโฟกัสที่แบบเก็บเงินรายเดือนแทน เพราะมันทำให้เราเหนื่อยน้อยลงมากๆครับ

ทีนี้พวกโปรแกรมที่ให้บริการและเก็บเงินรายเดือนนี่เรามักจะเรียกติดปากว่า SaaS ย่อมาจาก Software as a Service หรือบางทีก็เรียกว่า Cloud

คือเอาโปรแกรมมาขายแบบให้บริการแล้วเก็บเงินรายเดือนแทนที่จะขายโปรแกรมให้ลูกค้าไปเลย

ลองดูตัวอย่างโปรแกรมดังๆที่เป็นแบบ Cloud หรือ SaaS กันนะครับ ที่เกือบทุกคนน่าจะรู้จักก็ต้องสองตัวนี้เลย…

- Microsoft Office 365
- Adobe Photoshop, Lightroom, Illustrator ฯลฯ

สองค่ายยักษ์ใหญ่นี้ล้วนแต่ขายโปรแกรมแบบเก็บเงินทีเดียวมาก่อน คนจะใช้ก็ต้องจ่ายก่อนถึงจะได้ใช้ แต่ปัจจุบันย้ายมาทำตลาดแบบ SaaS, Cloud กันหมดแล้ว ทั้งสองโปรแกรมสามารถดาวน์โหลดไปลองใช้ฟรีๆได้ แต่จำกัดเวลาเอาไว้ ถ้าอยากใช้ต่อค่อยจ่ายเงิน และจ่ายเป็นรายเดือนเอา

สองตัวบนเป็นโปรแกรมที่ผมเอาของคนอื่นมาเล่า ผมลองเล่าเรื่องสินค้า/บริการทางด้าน Software ของผมบ้าง…

สินค้าที่เป็น Software ตัวแรกที่ผมทำก็คือ FasterIM Opt-in plug-in for WordPress

เป็นโปรแกรมที่จับกลุ่มเป้าหมายคือคนที่ใช้ WordPress ซึ่งมีเยอะมากในตอนนั้น (จนกระทั่งปัจจุบัน)

ผมให้คนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดฟรีไปใช้งานได้เลย แต่ต้องแลกกับอีเมล์ เพราะเป้าหมายหลักของผมคือการสร้าง Mailing list ในระยะยาว

แต่ผมก็ไม่วายต้องการเงินในระยะสั้นอยู่ดี ผมจึงจำกัดความสามารถของโปรแกรมเอาไว้ และผู้ใช้สามารถปลดล็อคได้ในราคา $7-$49 (ผมเปลี่ยนราคาไปมาจนจำไม่ได้แล้วว่าตอนเปิดตัวราคาเท่าไหร่ 555)

บอกตรงๆคือคนที่ใช้โปรแกรมตัวนี้ของผมยังไงก็ต้องจ่ายเงินถ้าต้องการใช้งานจริงๆเพราะข้อจำกัดมันน่ารำคาญมากๆ 555

พอเป็นระยะหลัง ผมเริ่มทำโปรแกรมในลักษณะนี้น้อยลงเพราะต้องการอะไรที่สร้างรายได้ให้เราในระยะยาวๆมากกว่า

ผมจึงเริ่มทำ SaaS ออกมาหลายๆตัว

หนึ่งในตัวที่ผมจะให้ดูก็คือ NagScreen ที่ผมทำกับ Mentor ผม ตัวนี้เป็นบริการที่จับกลุ่มเป้าหมายเป็นนักพัฒนาแอปบนมือถือ iPhone

ให้ใช้บริการได้ฟรี แต่ติดเรื่องข้อจำกัดบางอย่างเช่นเดียวกัน และสามารถอัปเกรดเป็นจ่ายรายเดือนเพื่อปลดล็อคได้

ผมยังมี SaaS อีกหลายตัวมากๆ แต่คงไม่นำมาเปิดเผยกันในที่นี้ครับ

ผมเคยเล่าเรื่องพวกโปรแกรม, SaaS ให้หลายๆคนฟัง และมีคำถามสำคัญคือ…

ไม่ใช่โปรแกรมเมอร์จะทำได้ไหม?

ผมนี่ตอบทันควันว่าทำได้สิครับ เดี๋ยวนี้มีเว็บและคนที่รับจ้างพัฒนาโปรแกรมเยอะแยะไป ไว้ผมจะเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอีกบทความให้อ่านครับ

ผมไม่อยากจะบอกว่าโปรแกรมตัวแรกของผม ที่ผมใช้เวลาพัฒนา 1 สัปดาห์ ทำเงินไปมากกว่า 2 ล้าน!

ไอ้ตัวนี้เนี่ย ถ้าไปจ้างคนทำนะครับ ไม่น่าเกิน $200-$300! (6,000-10,000 บาท)

เพราะฉนั้น ประเด็นมันอยู่ที่ไอเดียของสินค้าครับ ไม่ใช่เรื่องวิธีผลิต!

เกริ่นมายาว หลายๆคนอาจจะคิดว่าผมทำแต่โปรแกรม แต่ขอบอกไว้ประโยคเดียวว่า ผมทำ eBook มามากกว่า 100 เล่มแล้วครับ! แค่ผมไม่ค่อยพูดถึงมันให้ใครฟังเท่านั้น ไว้จะมาเล่าให้ฟังเรื่อยๆผ่านบทความนะครับ

เอาล่ะ สินค้าจับต้องไม่ได้ตัวต่อไป…

รูปภาพครับ Graphics นี่ล่ะ

รูปภาพพวกนี้ทำเงินได้จากการขายให้กับคนที่นำมันไปใช้งานต่อครับ เราคงจะเคยได้ยินเกี่ยวกับ Stock photo กันมากในปัจจุบัน แต่หารู้ไม่ว่านักการตลาดออนไลน์ทำเงินจากภาพกันมานานแล้ว ไม่ต้องถ่ายรูปก็ทำเงินล้านได้เหมือนกันครับ

ลองดูตัวนี้ครับ

http://marketinggraphicstoolkit.com

ก๊อปไปแปะในบราวเซอร์เองนะครับ ตัวนี้เคยออกเวอร์ชันนึงออกมา น่าจะ v3 หรือ v4 กวาดเงินไปเป็นหลักสิบล้านบาทในเวลาไม่กี่วัน เป็นรูปที่นักการตลาดออนไลน์ต้องหามาใช้งานครับ สวย เข้ากับยุคสมัย และผมก็เป็นหนึ่งในลูกค้าของเค้า

ปัจจุบันกลายเป็นเก็บเงินรายเดือนเรียบร้อยแล้ว 5555

ส่วนสาย Stock photo ออกท่องเที่ยวแล้วถ่ายรูปมาขายก็น่าสนใจครับ และคนไทยเราก็มีหลายต่อหลายคนที่อยู่กินจาก Stock photo นี่ล่ะครับ เรียกว่างานในฝันเลยเพราะต้องออกท่องเที่ยวตลอด!

เป็นไงบ้างครับตอนนี้ ผมหวังว่าผู้อ่านคงจะได้เข้าใจเรื่องสินค้าที่จับต้องไม่ได้ไปอีกระดับแล้วนะครับ

ผมขอสรุปอีกครั้งนะครับ สินค้าที่จับต้องไม่ได้จะมีราวๆนี้ครับ

- eBook
- คอร์สเสียง
- คอร์สวีดีโอ
- โปรแกรม
- แอปมือถือ
- รูปภาพ

Intangible product พวกนี้ ตัวผมเองเรียกติดปากว่า Digital product เพราะถ้าสังเกตดู พวกนี้จะมาตามโลกในยุคดิจิตอลครับ ในบทความต่อๆไปผมขออนุญาติเรียกว่า Digital product เลยละกันครับ ส่วนสินค้าที่จับต้องได้ผมจะเรียกว่า Physical product

Digital product กับ Physical product ล้วนแล้วแต่มีจุดแข็งที่ต่างกันครับ

ไม่มีตัวไหนดีกว่ากัน ลองเลือกที่เหมาะกับตัวเองที่สุดแล้วกันนะครับ

สำหรับผม ถนัด Digital product มากๆ และมันเหมาะกับ Lifestyle ของผมที่สุดแล้วครับ!

สำหรับบทความต่อๆไปผมจะเขียนเกี่ยวกับขั้นตอนต่อไปของการสร้างรายได้ด้วย Digital product กันครับ หลังจากเลือกรูปแบบของสินค้ากันได้แล้ว ถ้าต้องการสร้างรายได้จากมัน จะมีขั้นตอนอย่างไร…

ติดตามอ่านได้ในบทความต่อไปครับ

ขอบคุณที่อ่านกันจนจบครับ อย่าลืม Like และ Share ต่อเป็นกำลังใจให้คนเขียนด้วยนะครับ

แล้วพบกัน
ก๊วง IMT

About the author 

ก๊วง

คนไทยคนแรกและคนเดียวในปัจจุบันที่ ClickBank ควักกระเป๋าเชิญไปพูดที่เวทีต่างประเทศร่วมกับนักการตลาดออนไลน์ระดับโลก (ClickBank.com คือเว็บไซท์ขาย Digital Product อันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ยอดขายมากกว่า $3 Billion USD)

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

Subscribe now to get the latest updates!

>