November 1, 2016

สวัสดีครับเพื่อนๆผู้อ่าน

หวังว่าคงสบายดีกันทุกคนนะครับ วันนี้ที่ผมเขียนบทความนี้อยู่คือวันเที่ยวของเทศกาลปีใหม่หรือตรุษจีนครับ

คนจีนเค้าถือและห้ามทำงานกันแต่ผมขอออกไปส่งลูกไปโรงเรียนต่อด้วยฟิตเนสแล้วก็มานั่งชิลๆทำงานไปเรื่อยๆพร้อมเขียนบทความใหม่อันนี้ครับ

สำหรับบทความนี้ก็เป็นบทความต่อเนื่องถัดมาจากคราวก่อนนะครับ

ผมได้บอกไปในว่าการสร้างรายได้จากอินเทอร์เน็ทนั้นโดยส่วนใหญ่ทำกันอยู่สามรูปแบบ คือ

- ขายสินค้าหรือบริการของตัวเอง
- ขายสินค้าหรือบริการของคนอื่นแล้วกินส่วนแบ่ง
- ขายพื้นที่โฆษณา

และผู้อ่านจากบทความแรกก็มีคำถามเข้ามามากที่สุดถามว่า… แล้วขายอะไรดีที่สุด?

อ่อม… ผมก็บอกไม่ได้เหมือนกันครับ สินค้าแต่ละอย่าง แต่ละรูปแบบ มันก็มีข้อดี ข้อเสียต่างกันไป แต่ในบทความนี้ผมจะขอกวาดเข้าไปให้ลึกอีกขั้นในเรื่องของสินค้านะครับ ว่าเราควรเลือกสินค้าประมาณไหนมาขาย

ผมขอย้ำนะครับว่าไม่มีสินค้าไหนดีที่สุด มันมีแต่สินค้าที่เหมาะกับสไตล์การขายและการทำงานของเรามากที่สุดต่างหาก

และบทความนี้ผมก็จะไม่ได้บอกด้วยว่าสินค้าตัวไหน ประเภทไหน อะไรยังไงที่มันขายดีๆและเหมาะกับตัวท่านผู้อ่าน
เก็บไปเป็นการบ้านหลังจากอ่านบทความนี้เสร็จกันเองนะครับ

ก่อนอื่นเลย สิ่งที่ผมเน้นย้ำเสมอในเรื่องเป้าหมายของการทำ Internet Marketing ก็คือ Lifestyle พูดง่ายๆคือทำแล้วมันต้องสนับสนุนให้เรามีเวลาและทรัพย์ไปใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการได้ และการเลือกรูปแบบของสินค้าหรือบริการที่เราจะขายมันก็เป็นตัวตีกรอบจำกัดในเรื่องของ Lifestyle ที่เราจะสร้างขึ้นมา

ถ้าเลือกรูปแบบของสินค้าไม่สอดคล้องกับรูปแบบการทำงานและ Lifestyle ของเราตั้งแต่ต้น จะมาแก้ตอนหลังก็ดูจะยุ่งนิดนึง

เพราะฉนั้นเรามาทำความรู้จักกับรูปแบบของสินค้าหรือบริการในหลายๆแง่มุมกันเถอะ!

แล้วรูปแบบของสินค้าที่พวกเรานำมาขายมีอะไรบ้าง?

ไม่ต้องตกใจกลัวไปครับ ผมเขียนออกมาเป็นบทความนึงในเรื่องนี้ไปเลย ดูเหมือนจะมีเยอะแต่จริงๆรูปแบบของสินค้านั้นมีน้อยมากๆครับ

ปล. ผมขอแบ่งรูปแบบของสินค้าหรือบริการจากประสบการณ์การทำ Internet Marketing ของผมนะครับ ต้องขอโทษที่อาจจะไม่เหมือนตามตำราทั่วๆไป และมันมีอยู่เพียงแค่สองอย่างเท่านั้น

- สินค้าที่เราจับต้องได้
- สินค้าที่เราจับต้องไม่ได้

เหวอเลยไหมครับ สั้นมาก สั้นจริงๆ ผมเองยังไม่รู้จะเขียนยังไงต่อเลย เดี๋ยวจะลองพยายามอธิบายให้มากที่สุดแล้วกันนะครับ

เริ่มกันที่…

More...

สินค้าที่เราจับต้องได้

พวกต่างชาติชอบเรียกมันว่า Physical product หรือ Tangible product ครับ อธิบายความง่ายๆก็คือ สินค้ารูปแบบนี้เป็นสินค้าที่ลูกค้าซื้อไปแล้วสามารถจับต้องมันได้…

สมัยก่อนมีคนงงกับคำพูดของผมครับ แล้วก็บอกว่า อ้าว… สินค้าที่เราซื้อมา มันก็ต้องจับต้องได้สิครับพี่ ก็เราซื้อมันมาแล้ว มันไม่ได้อยู่ในตู้โชว์เหมือนตอนที่เรายังไม่ได้ซื้อนะครับ ตอนอยู่ในตู้โชว์มันก็จับต้องไม่ได้แน่นอน!



ผมนี่เงียบไปสักครู่…



แล้วก็ค่อยๆอธิบายว่าไอ้คำว่าจับต้องได้นั้น ผมหมายถึงมันเป็นก้อน เป็นชิ้น เป็นแผ่น ไม่ว่าจะอยู่ในตู้โชว์หรือเอาออกมา เราก็สามารถสัมผัสตัวสินค้าได้ เข้าใจไหมครับ!!??

ยกตัวอย่าง… เตาอบ ตู้เย็น หนังสือ ขวดแก้ว กาแฟ อาหารเสริม ครีม ฯลฯ

ของพวกนี้เราเอานิ้วไปแหย่แล้วจะสามารถมีความรู้สึกว่ามันมีตัวตนได้ นั่นละครับ Physical product หรือบางทีก็เรียกว่า Tangible product!

เว็บไซท์ที่น่าจะเป็นอันดับหนึ่งที่ขายของจับต้องได้นี้ก็คงไม่พ้น Amazon.com ครับ เพิ่มเติมก็ลองไปดูพวก Alibaba, eBay, Aliexpress ด้วยก็ได้ครับ

จับต้องได้แล้วยังไงต่อครับ?

ในฐานะของคนขาย คนทำการตลาดนะครับ สินค้าที่จับต้องได้คือมันต้องมีสสารและโมเลกุลประกอบกันอยู่… เริ่มยากแล้ว เดี๋ยวๆ

คือสินค้าที่จับต้องได้นั้น ประเด็นคือมันต้องมีการผลิตครับ

เตาอบ ผลิตจากเหล็ก บอร์ด วงจร ทองแดง ฯลฯ

หนังสือ ผลิตจากต้นไม้ หมึก เครื่องพิมพ์ ฯลฯ

ขวดแก้ว ผลิตจากทราย ฯลฯ

อาหารเสริม ผลิตจากใบไม้ ใบหญ้า ฯลฯ

และสิ่งที่ตามมาก็คือกรรมวิธีการผลิต เราต้องมีเครื่องมือเครื่องจักรต่างๆด้วยจริงไหมครับ มันคือต้นทุนในการผลิตนั่นเอง!

และมันคือจุดอ่อนอย่างนึงของสินค้าที่สามารถจับต้องได้ครับ

แต่เดี๋ยว วิธีแก้จุดอ่อนมีครับ ก็สั่งผลิตจากพวกโรงงานผลิตโดยตรงสิครับ!

ใช่ครับ แก้ปัญหานี้ได้ แต่สำหรับผมเองไม่ค่อยชอบวิธีนี้เท่าไหร่ เพราะต้องมีการติดต่อกับคนฝ่ายผลิต ยิ่งคนเยอะ ยิ่งยุ่ง แต่มันคือคหสต.ของผมเท่านั้นนะครับ ซึ่งจริงๆมันก็แก้ได้นะ โดยการจ้างคนมาติดต่อแทนเรา แต่ผมไม่ชอบจริงๆ ขอบายครับ 555

ต่อมาครับ เราสั่งผลิตสินค้าจากโรงงานได้โดยตรง สิ่งที่เราต้องพบปะต่อมาก็คือเรื่องการขนส่งนั่นเอง

เราขายสินค้าผ่านอินเทอร์เน็ทก็ต้องมีการส่งสินค้าถูกไหมครับ

การขนส่งนี่เป็นตัวกินเวลาเราอย่างมาก เพราะเราต้องแพ็คของใส่กล่อง ไปติดต่อไปรษณีย์ทุกวัน (ถ้าคุณมี order ทุกวันนะ 555) ขายได้วันละ 100 รายการ ก็แพ็คไป 100 กล่อง 1,000 รายการ ก็ 1,000 กล่อง ฯลฯ แค่คิดมือก็หงิกแล้ว 55555

แถมถ้าการขนส่งทำสินค้าเสียหาย เราก็ต้องรับผิดชอบอีกด้วย

โอเค การแพ็คของส่งแก้ได้ด้วยการจ้างคน ถ้าเหมาะกับท่านก็ทำไปครับ ผมย้ำเสมอว่าจงทำอะไรที่ถูกและเหมาะสมกับจริตของเรา อย่าไปฝืนทำตามคำบอกของคนอื่น

วิธีแก้นอกจากการจ้างคนมาแพ็คของและส่งแทนเราแล้ว ก็ยังมีทางเลือกอื่นอีกอย่างเช่นการทำ Dropship ที่ค่อนข้างเป็นที่นิยมสำหรับสายตัวเป็นขนอย่างผม (ขี้เกียจ)

การทำ Dropship นี่ทำให้โลกของการขายสินค้าจับต้องได้มันง่ายขึ้นมาทันตาเห็น เพราะเราแค่ขายๆๆ เวลาได้รายการขายก็ส่งไปบอกผู้ผลิตพร้อมชื่อที่อยู่ของลูกค้า ผู้ผลิตก็จะทำการจัดส่งให้เราโดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งกับการส่งของเลย ซี้ด!

สิ่งที่เป็นจุดที่น่าคิดต่อมาก็คือ… การทำ Dropship มันง่าย ทำให้นักการตลาด นักขายคนอื่นก็สามารถทำเหมือนเราได้ในชั่วข้ามคืน

ผมยกตัวอย่างนะครับ…

ถ้าผมไปเห็นตัวเก็บข้อมูลทรง Iron Man กำลังขายดี ผมก็อาจจะไปค้นหาสินค้าตัวนี้จาก Google, eBay, Amazon, Alibaba, Aliexpress ฯลฯ เพื่อหาต้นตอว่ามันมีที่ไหนขายสินค้าตัวนี้แบบ Dropship ไหม (ซึ่งส่วนใหญ่จะมี ไม่ค่อยมีสินค้าตัวไหนที่เค้า Dropship ให้คนขายเจ้าเดียวหรอกครับ)

แล้วก็ติดต่อคนทำ Dropship เซ็ทอัปร้านค้า แล้วเริ่มขายแข่งกับเรา และถ้าโชคอยู่ข้างเค้า ไม่อยู่ข้างคุณ ทั้งหมดนี้สามารถทำได้ภายในคืนเดียว!

อืม อืม อืม… ผมถึงบอกนะครับว่าไม่มีอะไรที่ดีที่สุด ถ้าเราทำมันแล้วสบายใจ ทำได้ผลลัพธ์ดี ทำไปเถอะครับ!

ผมพูดแต่จุดอ่อนมาหลายจุดแล้ว แต่มันมีจุดแข็งที่สินค้ารูปแบบอื่นสู้ไม่ได้ก็คือ…

Immediate value หรือคุณค่าที่สามารถเห็นได้ทันทีครับ

พูดง่ายๆก็คือ ลูกค้าจ่ายตัง ได้ของมา แม้จะยังไม่ได้ใช้ แต่เห็นมันอยู่บนโต๊ะแล้ว ยังไงค่าของมันก็ยังอยู่ตรงนั้น

เคยไหมครับ ซื้อไอแพดมา ยังไม่ได้ใช้หรอก แต่ในใจก็คิดว่ายังไม่ใช้ก็ไม่เป็นไรนี่นา มันก็ตั้งอยู่บนโต๊ะแล้ว จะใช้เมื่อไหร่ก็ได้ นั่นละครับ

สำหรับสินค้าที่จับต้องได้ก็พอเท่านี้ก่อนนะครับ ลองมาพูดถึงการขายบริการที่จับต้องได้กันแบบสั้นๆบ้าง เอาแค่สั้นๆเพราะจริงๆมันก็มีลักษณะเหมือนกับสินค้านั่นล่ะครับคือทุกการบริการจะมีต้นทุนอะไรสักอย่างอยู่ อาจจะไม่ใช่การผลิต แต่เป็นต้นทุนทางด้านเวลาของผู้ให้บริการ เช่น ล้างรถ ติดตั้งเครื่องเสียง ให้เช่าสนามแบดมินตัน นวดแผนโบราณ ฯลฯ

สรุปนะครับ ลักษณะของสินค้าหรือบริการที่สามารถจับต้องได้มีดังนี้…

  • ลูกค้าเห็นคุณค่าง่าย ได้ของไป ถึงไม่ได้ใช้ก็รู้สึกว่าตัวเองได้คุณค่านั้นมาแล้ว
  • ต้องมีการผลิต ขายได้ 1,000,000 ชิ้นในหนึ่งเดือน คุณต้องผลิตและมีเงินจ่ายต้นทุนการผลิตให้ทันและเพียงพอ
  • ต้องมีการขนส่ง ขายได้ 1,000,000 ชิ้นในหนึ่งเดือน คุณต้องแพ็คกล่องล้านกล่องและไปส่งไปรษณีย์ให้ทัน
  • คู่แข่งสปายแล้วแข่งขันกันด้วยราคาที่ถูกกว่ามีเยอะมาก คุณต้องโฟกัสเรื่องการปั้นแบรนด์และสร้าง Mailing list (ไว้พล่ามต่อวันหลัง)

สรุปแบบความเห็นส่วนตัว

ผมไม่ค่อยชอบขายสินค้ารูปแบบนี้เพราะว่า… ถ้าผมไม่ต้องการผลิตและส่งเอง ผมต้องเลือกใช้ Dropship และพยายามสร้างแบรนด์ของร้านค้าตัวเอง ซึ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหลักเรื่องการผลิตและขนส่งกลับไปโยนให้ผู้ผลิตรับผิดชอบ ถ้าเค้าผลิตของผิดสเป๊ค ส่งของล่าช้า ส่งของผิด ส่งของเสียหาย ฯลฯ แบรนด์เราก็จะเน่าเร็ว และคำถามที่เป็นกุญแจสำหรับผมก็คือ… เราควบคุมมันได้แน่หรือ?

ย้ำนะครับว่าเป็นแค่คหสต. ถ้าเราสามารถพลิกเกมเป็นทั้งคนขาย คนผลิตและคนส่งได้ด้วย คือคุมทั้งการทำงานทางด้านแนวตั้งและแนวนอน สร้างระบบดีๆ ผมว่าก็เป็นอะไรที่น่าทำมากๆๆๆครับ เพียงแต่ว่าผมขอเลือกรูปแบบอื่นเท่านั้นเอง ส่วนท่านผู้อ่านจะเลือกแบบไหนก็แล้วแต่ท่านเลยครับ

อ้าว ผมเขียนมาก็ยาวพอสมควรแล้วนี่นา กลัวจะเบื่ออ่านไม่จบกันไปซะก่อน ขอบังคับจบบทความนี้ไว้เท่านี้ก่อนนะครับ

เดี๋ยวบทความหน้าค่อยมาว่ากันในเรื่องรูปแบบของสินค้าที่จับต้องไม่ได้หรือ Intangible product กันครับ…

อาจจะรอกันหลายวันหน่อยนะครับ เพราะผมกำลังจะไปออกทริปถ่ายรูปที่ม่อนจองกับเพื่อนๆ ภาคเหนือบ้านเรานั่นเอง

แล้วจะมาเล่าให้ฟังกันต่อครับ

ขอบคุณที่อ่านกันจนจบครับ
ก๊วง IMT

About the author 

ก๊วง

คนไทยคนแรกและคนเดียวในปัจจุบันที่ ClickBank ควักกระเป๋าเชิญไปพูดที่เวทีต่างประเทศร่วมกับนักการตลาดออนไลน์ระดับโลก (ClickBank.com คือเว็บไซท์ขาย Digital Product อันดับหนึ่งของโลกในปัจจุบัน ยอดขายมากกว่า $3 Billion USD)

{"email":"Email address invalid","url":"Website address invalid","required":"Required field missing"}

Subscribe now to get the latest updates!

>